เว็บไซต์บทความเกี่ยวกับความปลอดภัยในการทำงาน ที่ครอบคลุมทุกด้านในการทำงาน
วันเสาร์, เมษายน 20, 2024
Home » ความปลอดภัยในการทำงานเชื่อม Welding

ความปลอดภัยในการทำงานเชื่อม Welding

by Vanessa Bennett
509 views
ความปลอดภัยในงานเชื่อม

ความปลอดภัยในการทำงานเชื่อมมีความสำคัญอย่างไร

การเชื่อม (Welding) เป็นกระบวนการที่ใช้สำหรับต่อวัสดุ ส่วนใหญ่เป็นโลหะและเทอร์โมพลาสติก โดยให้รวมตัวเข้าด้วยกัน ปกติใช้วิธีทำให้ชิ้นงานหลอมละลาย และการเพิ่มเนื้อโลหะเติมลงไป เมื่อเย็นตัวรอยต่อจะมีความแข็งแรง 

การทำงานเชื่อมเหมือนกันแต่สภาพแวดล้อมแตกต่างกันย่อมมีอันตรายที่ต่างกัน เช่น เชื่อมบนพื้นที่มีความชื้นเชื่อมบริเวณที่มีสารเคมีไวไฟหรือเชื่อมใต้น้ำเป็นต้น

1. กฎหมายเกี่ยวกับงานเชื่อม

กฎกระทรวง กำหนดมาตรฐานในการบริหาร จัดการ และดำเนินการด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานเกี่ยวกับเครื่องจักร ปั้นจั่น และหม้อน้ำ พ.ศ. 2564 ได้กำหนดเกี่ยวกับงานเชื่อมไว้ใน หมวด 1 ส่วนที่ 3 เครื่องเชื่อมไฟฟ้าและเครื่องเชื่อมก๊าซ

 

งานเชื่อมนอกอาคาร

 

2. อันตรายจากงานเชื่อม

งานเชื่อม ไม่ว่าจะเป็นงานเชื่อมไฟฟ้าหรืองานเชื่อมด้วยก๊าซ ย่อมมีอันตรายด้วยกันทั้งสิ้น แต่อาจจะมีอันตรายที่แตกต่างกันตามประเภททของเครื่องเชื่อมที่ใช้งาน ซึ่งอันตรายที่ต้องพบเจอสำหรับงานเชื่อมที่เหมือนกัน ได้แก่ ควัน ฟูม แสงจ้า ความร้อน ในขณะเชื่อม และหากเป็นอันตรายจากเครื่องเชื่อมไฟฟ้า อาจทำให้ผู้ปฏิบัติงาน ได้รับอันตรายจากกระแสไฟฟ้าได้ เนื่องจากในขณะที่ปฏิบัติงานนั้น จะมีกระแสไฟฟ้าอยู่ตลอดเวลา จึงต้องทำการตรวจเช็คก่อนการใช้งานอย่างละเอียด เพื่อป้องกันอันตรายจากกระแสไฟฟ้า และหากเป็นเครื่องเชื่อมก๊าซ สิ่งที่ต้องระวังเป็นอย่างมาก คือการเกิดปรากฏการณ์ไฟย้อนกลับ (Flashback) ซึ่งหากเกิดบริเวณถังก๊าซ จะทำให้เกิดอันตรายและความเสียหายเป็นวงกว้าง อาจทำให้เสียชีวิตได้

  • ไฟย้อนกลับ (Flashback) คืออะไร

ไฟย้อนกลับ (Flashback) คือปรากฏการณ์ที่ไฟย้อนกลับจากหัวเชื่อม (Torch) เข้าสายแก๊สผ่านอุปกรณ์ปรับความดัน (Regulators) ไปยังถังเชื้อเพลิง (Fuel Gas Cylinder) และออกซิเจนไหลตามเข้าไปหรืออกซิเจนอาจจะไหลย้อนเข้าไปก่อนก๊าซจึงไหลตามเข้าไปและทำให้เกิดปรากฏการณ์ดังกล่าวขึ้น

  • การป้องกันไฟย้อนกลับ

การป้องกันไฟย้อนกลับสามารถทำได้โดยการติดตั้งอุปกรณ์ป้องกันไฟย้อนกลับ (Flashback Arrestors) 4 จุดที่อุปกรณ์เชื่อมก๊าซดังนี้

  1. ทางออกของอุปกรณ์ปรับแรงดันออกซิเจน
  2. ทางออกของอุปกรณ์ปรับแรงดันก๊าซเชื้อเพลิง
  3. ด้ามหัวเชื่อมทางด้านที่ต่อกับสายออกซิเจน
  4. ด้ามหัวเชื่อมทางด้านที่ต่อกับสายก๊าซเชื้อเพลิง

 

อุปกรณ์งานเชื่อม

 

3. ความปลอดภัยในการทำงานเชื่อม

  1. ก่อนใช้งานเครื่องเชื่อมไฟฟ้าและเครื่องเชื่อมก๊าซ

  • จัดให้มีถังดับเพลิงอยู่บริเวณใกล้เคียง สามารถนำไปใช้ดับเพลิงได้ทันที
  • จัดให้มีอุปกรณ์คุ้มครองความปลอดภัยส่วนบุคคล ได้แก่
  1.  ถุงมือหนังหรือถุงมือผ้า
  2.  กระบังหน้าลดแสงหรือแว่นตาลดแสง
  3.  รองเท้านิรภัย
  4.  แผ่นปิดหน้าอกกันประกายไฟ ต้องป้องกันประกายไฟหรือทนความร้อนได้ดี 
  5.   อุปกรณ์ป้องกันระบบทางเดินหายใจ
  • บริเวณที่ปฏิบัติงาน ต้องไม่มีวัสดุที่ติดไฟง่ายวางอยู่
  • จัดให้มีฉากกั้นหรืออุปกรณ์ป้องกันอันตรายอื่นๆ ที่เหมาะสม เพื่อป้องกันอันตรายจากประกายไฟและแสงจ้า 
  • จัดสถานที่ปฏิบัติงานให้มีแสงสว่างและการระบายอากาศอย่างเหมาะสม

 2. การควบคุมในระหว่างการปฏิบัติงานเชื่อม

  • ต้องควบคุมดูแลไม่ให้ผู้ไม่เกี่ยวข้องเข้าไปในบริเวณที่มีการทำงานเชื่อมด้วยเครื่องเชื่อมไฟฟ้าหรือเครื่องเชื่อมก๊าซ ซึ่งโดยทั่วไปแล้ว งานเชื่อมจะทำในพื้นที่เฉพาะ เช่น พื้นที่การทำงานของช่าง หรือหากมีความจำเป็นต้องเชื่อมในพื้นที่การผลิต ต้องกั้นแยกพื้นที่ให้ชัดเจน และป้องกันประกายไฟด้วย
  • หากใช้เครื่องเชื่อมไฟฟ้าหรือเครื่องเชื่อมก๊าซกับภาชนะบรรจุสารไวไฟ หรือบริเวณที่อาจก่อให้เกิดการระเบิด ไฟไหม้หรือไฟลามจากก๊าซน้ำมัน หรือวัตถุไวไฟอื่น ต้องมีมาตรการด้านความปลอดภัยและควบคุมอย่างเคร่งครัด 

 

งานเชื่อม

 

3. ความปลอดภัยในการทำงานเกี่ยวกับเครื่องเชื่อมไฟฟ้า

  • จัดให้มีการใช้สายดินของวงจรเชื่อม หัวจับสายดินวงจรเชื่อม สายเชื่อม และหัวจับลวดเชื่อม ตามขนาดและมาตรฐานที่กำหนดไว้
  • สายไฟฟ้าและสายดิน ต้องห่างจากการบดทับของยานพาหนะ น้ำ ที่ชื้นแฉะ ถ้าไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ ให้หามาตรการป้องกันไม่ให้เกิดอันตราย

หมายเหตุ : ไม่บังคับใช้กับเครื่องเชื่อมไฟฟ้าที่ต้องปฏิบัติงานใต้น้ำ

4. ความปลอดภัยในการทำงานเกี่ยวกับเครื่องเชื่อมก๊าซ

  • ติดตั้งและตรวจสอบอุปกรณ์ควบคุมความดัน และมาตรวัดที่ถูกต้อง เหมาะสมกับชนิดของก๊าซ
  • ตรวจสอบการรั่วไหล การหลุดหลวม การสึกหรอของอุปกรณ์ หรือสภาพที่ไม่ปลอดภัยทุกครั้งก่อนการใช้งาน หากพบว่าไม่ปลอดภัยต้องรีบแก้ไข
  • จัดทำเครื่องหมาย สี หรือสัญลักษณ์ที่ท่อส่งก๊าซ หัวเชื่อม หรือหัวตัดให้เป็นแบบและชนิดเดียวกัน
  • ต้องมีอุปกรณ์กันเปลวไฟย้อนกลับติดระหว่างหัวเชื่อม หัวตัดหรือหัวเผากับถังบรรจุก๊าซออกซิเจน และถังก๊าซไวไฟขณะใช้งาน หรือที่เราเรียกว่า Flashback Arrestors

นอกจากมาตรการที่กล่าวมาอาจกำหนดมาตรการเพิ่มเติมเพื่อความปลอดภัยมากขึ้น เช่น กำหนดให้เลิกงานก่อนเวลา 1 ชม. เพื่อเป็นการเฝ้าระวังอันตรายจากไฟไหม้เพราะหากเราเลิกงานแล้วกลับบ้านทันทีอาจทำให้เกิดไฟไหม้ตามมาได้ 

นอกจากการกำหนดมาตรการแล้ว ผู้ที่ต้องปฏิบัติงานเกี่ยวกับไฟฟ้าต้องผ่านการอบรมเกี่ยวกับขั้นตอนและวิธีการทำงานที่ปลอดภัย การป้องกันอันตราย รายละเอียดเกี่ยวกับโครงสร้างอุปกรณ์ การตรวจสอบและการบำรุงรักษา ซึ่งได้ถูกกำหนดไว้ใน หมวด 1 ส่วนที่ 1 บททั่วไป ข้อ 13 ของกฎกระทรวง กำหนดมาตรฐานในการบริหาร จัดการ และดำเนินการด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานเกี่ยวกับเครื่องจักร ปั้นจั่น และหม้อน้ำ พ.ศ. 2564

สรุป

การทำงานเชื่อม ไม่ว่าจะเป็นเชื่อมไฟฟ้าหรือเชื่อมก๊าซ ย่อมมีอันตรายเกิดขึ้น ในระหว่างการปฏิบัติงาน นอกจากต้องมีมาตรการการปฏิบัติงานที่ปลอดภัยแล้ว ผู้ปฏิบัติต้องเป็นผู้ที่ผ่านการอบรม และก่อนการปฏิบัติงานต้องทำการตรวจสอบความปลอดภัยของเครื่องเชื่อมก่อนทุกครั้ง และหากพบว่า เครื่องเชื่อมอยู่ในสภาพที่ไม่พร้อมใช้งาน ต้องรีบแก้ไขโดยทันที

เรื่องที่คุณอาจสนใจ

logo Skbfinancia

เกี่ยวกับเรา

แหล่งข้อมูลดีๆ ที่ครอบคลุมเกี่ยวกับเรื่องความปลอดภัยในการทำงาน ทุกบทความถูกจัดทำโดยผู้เชี่ยวชาญ และมีเนื้อหาที่สเข้าใจง่าย

เรื่องล่าสุด

©2023 – All Right Reserved. Designed by  skbfinancialservices