เว็บไซต์บทความเกี่ยวกับความปลอดภัยในการทำงาน ที่ครอบคลุมทุกด้านในการทำงาน
วันพฤหัสบดี, เมษายน 25, 2024
Home » กฎกระทรวง กำหนดมาตรฐานเกี่ยวกับระบบการจัดการด้านความปลอดภัย พ.ศ. 2565

กฎกระทรวง กำหนดมาตรฐานเกี่ยวกับระบบการจัดการด้านความปลอดภัย พ.ศ. 2565

by Vanessa Bennett
370 views
กฎกระทรวงมาตรฐานระบบความปลอดภัย พศ 2565

ว่าด้วยเรื่อง มาตรฐานเกี่ยวกับระบบการจัดการด้านความปลอดภัย พ.ศ. 2565 ตามที่กฎกระทรวงได้กำหนดไว้

กฎกระทรวงกำหนดมาตรฐานเกี่ยวกับระบบการจัดการด้านความปลอดภัยพ.ศ. 2565  ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 11 เมษายน 2565 และบังคับใช้ เมื่อพ้นกำหนด 60 วัน นับจากวันที่ประกาศ โดยออกมาเพื่อยกเลิกกฎกระทรวง กำหนดมาตรฐานในการบริหารและการจัดการด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2553 โดยในกฎกระทรวง พ.ศ. 2565 นี้ ได้พูดถึงวิธีการจัดทำระบบการจัดการด้านความปลอดภัย ไว้อย่างละเอียด เพื่อให้การจัดการด้านความปลอดภัยเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ

1. ระบบการจัดการด้านความปลอดภัยคืออะไร

  • “ระบบการจัดการด้านความปลอดภัย” หมายความว่า ระบบการจัดการที่กำหนดขึ้นเป็นส่วนหนึ่งของระบบการจัดการของสถานประกอบกิจการเพื่อนำไปปฏิบัติให้เป็นไปตามนโยบายด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน ซึ่งครอบคลุมการจัดการความเสี่ยงด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานของสถานประกอบกิจการ คล้ายๆกับ ISO 9001  แต่ไม่ใช่เป็นเพียงระบบที่ไม่ต้องขอการรับรองแต่ต้องมีตามกฎหมาย

2. บังคับใช้กับสถานประกอบกิจการประเภทไหนบ้าง

  • สถานประกอบกิจการ 54 ประเภท ตามบัญชีท้ายกฎกระทรวงนี้ ที่มีลูกจ้างตั้งแต่ 50 คนขึ้นไป  และถ้าปัจจุบันยังมีลูกจ้างไม่ครบ 50 คน กฎกระทรวงฉบับนี้ยังไม่บังคับใช้ แต่ถ้าครบ 50 คน เมื่อไหร่ ต้องดำเนินการภายใน 60 วัน ที่มีลูกจ้างครบ 50 คนทันที 

 

Social

 

3. ระบบการจัดการด้านความปลอดภัย ประกอบด้วยอะไรบ้าง

  • ระบบการจัดการด้านความปลอดภัย ประกอบด้วย 5 หัวข้อ ดังนี้ 

3.1. นโยบายด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน

ซึ่งในการกำหนดนโยบายความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน ต้องสอดคล้องกับสภาพการทำงานและกฎหมายความปลอดภัย  เพื่อคุ้มครองความปลอดภัยของลูกจ้างในสถานประกอบกิจการ และเพื่อให้การปฏิบัติตามกฎหมายความปลอดภัยเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ โดยนายจ้างต้องมีหน้าที่ ดังต่อไปนี้

  • ให้ลูกจ้างมีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบาย และเผยแพร่ให้ลูกจ้างหรือผู้เกี่ยวข้องรับทราบ
  • จัดทำนโยบายเป็นภาษาไทย หรือจะมีภาษาอื่นที่ลูกจ้างเข้าใจได้ พร้อมทั้งลงลายมือชื่อ ประทับตรา ลงวันที่ให้ถูกต้องครบถ้วน จัดทำเป็นรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ด้วยก็ได้
  • มีการทบทวนอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง

3.2.การจัดการองค์กรด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน อย่างน้อยต้องประกอบด้วย

  • จัดให้มีบุคลากรซึ่งมีหน้าที่และความรับผิดชอบเกี่ยวกับการดำเนินการตามระบบการจัดการด้านความปลอดภัยที่เหมาะสมกับตำแหน่ง
  • อบรมบุคลากรให้มีความรู้และทักษะ ให้สามารถปฏิบัติงานตามระบบการจัดการด้านความปลอดภัยได้
  • จัดทำเอกสารเกี่ยวกับระบบการจัดการด้านความปลอดภัยให้เป็นปัจจุบัน เก็บไว้ไม่น้อยกว่า 2 ปี โดยจัดทำเป็นรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ด้วยก็ได้
  • สื่อสารข้อมูลเกี่ยวกับระบบการจัดการด้านความปลอดภัยให้แก่ลูกจ้าง หรือผู้ที่เกี่ยวข้องในสถานประกอบกิจการ และข้อมูลเกี่ยวกับอันตรายและมาตรฐานความปลอดภัย ให้แก่ผู้รับเหมาและผู้เกี่ยวข้อง

 

แผนงานด้านความปลอดภัย

 

3.3.แผนงานด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน และการนำไปปฏิบัติ

แผนงานด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน อย่างน้อยต้องมีเนื้อหา ดังนี้

  • การทบทวนสถานะเบื้องต้นเกี่ยวกับสภาพแวดล้อมในบริเวณที่ทำงานของลูกจ้าง ซึ่งรวมถึงการระบายอากาศ สารเคมีอันตราย ความร้อน แสงสว่าง เสียง รังสี ไฟฟ้า อับอากาศ เครื่องจักร อาคาร สถานที่ ตลอดจนสภาพและลักษณะการทำงานอื่นของลูกจ้าง และในกรณีเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมต้องมีการทบทวนสถานะเบื้องต้น เพื่อให้ทราบถึงอันตรายหรือระดับความเสี่ยงด้วยทุกครั้ง
  • นำผลการทบทวนมาวางแผนงานด้านความปลอดภัยฯ ให้สอดคล้องกับกฎหมายว่าด้วยความปลอดภัย ซึ่งต้องมีการกำหนดผู้รับผิดชอบ งบประมาณ ระยะเวลาในการดำเนินการ และเกณฑ์การประเมินผล
  • การนำแผนงานด้านความปลอดภัยฯ ไปปฏิบัติ
  • การประเมินผลที่ได้จากการปฏิบัติตามแผนงานด้านความปลอดภัยฯ
  • การนำผลการประเมินไปปรับปรุงแผนงานด้านความปลอดภัยฯ

3.4.การประเมินผลและการทบทวนระบบการจัดการด้านความปลอดภัย

การประเมินผลและทบทวนระบบการจัดการด้านความปลอดภัย อย่างน้อยต้องดำเนินการ ดังนี้

  • มีการตรวจติดตามและวัดผลการปฏิบัติงานของระบบการจัดการด้านความปลอดภัย
  • มีการสอบสวนหาสาเหตุของการเกิดอุบัติการณ์ การเจ็บป่วย โรคจากการทำงานหรือความเสียหายต่อทรัพย์สิน เพื่อกำหนดมาตรการในการแก้ไข ปรับปรุง ป้องกันการเกิดเหตุซ้ำอีก
  • มีการทบทวนระบบการจัดการด้านความปลอดภัย โดยนำผลการดำเนินการตามระบบมาวิเคราะห์หาสาเหตุของข้อบกพร่องและแนวโน้มที่จะเกิดข้อบกพร่อง

นายจ้างต้องจัดให้มีการประเมินผลและทบทวนระบบการจัดการด้านความปลอดภัย อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง

3.5.การปรับปรุงและการพัฒนาระบบการจัดการด้านความปลอดภัย

ต้องนำผลที่ได้จากการประเมินผลและทบทวนระบบการจัดการด้านความปลอดภัย (ข้อ 4) มาปรับปรุงแก้ไขระบบการจัดการด้านความปลอดภัย การปรับปรุงและการพัฒนาระบบการจัดการด้านความปลอดภัย ต้องทำอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ระบบมีประสิทธิภาพ และบรรลุวัตถุประสงค์ด้านความปลอดภัย

 

แผนงานด้านความปลอดภัย

 

4. นายจ้างต้องทำอย่างไร เพื่อให้ระบบการจัดการด้านความปลอดภัยมีประสิทธิภาพ

  1. ควบคุมดูแลการดำเนินการตามระบบการจัดการด้านความปลอดภัย
  2. ให้ลูกจ้างมีส่วนร่วมในการดำเนินการตามระบบ
  3. ให้ลูกจ้างเข้าถึงข้อมูล ที่เกี่ยวข้องกับระบบการจัดการด้านความปลอดภัยได้
  4. มีช่องทางรับความคิดเห็น ข้อเสนอแนะ ข้อร้องเรียนเกี่ยวกับความปลอดภัย เพื่อนำข้อมูลมาปรับปรุง แก้ไขระบบการจัดการด้านความปลอดภัย

ถ้ามีระบบการจัดการด้านความปลอดภัยตามมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม มาตรฐานสากล หรือมาตรฐานอื่นที่เทียบเท่า ถือว่าได้จัดให้มีระบบการจัดการด้านความปลอดภัยแล้ว โดยดูได้จาก ข้อ 13 กฎกระทรวง กำหนดมาตรฐานเกี่ยวกับระบบการจัดการด้านความปลอดภัย พ.ศ. 2565

สรุป

ระบบการจัดการด้านความปลอดภัย ตามกฎกระทรวง ฉบับนี้ ไม่เพียงแต่บังคับภาคอุตสาหกรรมเท่านั้น ยังรวมถึงกิจการอื่นๆ เช่น ห้างสรรพสินค้า สวนสนุก โรงพยาบาล โรงแรม เป็นต้น โดยการจัดทำระบบด้านความปลอดภัย ให้มีประสิทธิภาพนั้น  ต้องมีการวางแผน ปฏิบัติ ประเมินผล ทบทวน ปรับปรุงแก้ไข และพัฒนาอย่างต่อเนื่อง 

เรื่องที่คุณอาจสนใจ

logo Skbfinancia

เกี่ยวกับเรา

แหล่งข้อมูลดีๆ ที่ครอบคลุมเกี่ยวกับเรื่องความปลอดภัยในการทำงาน ทุกบทความถูกจัดทำโดยผู้เชี่ยวชาญ และมีเนื้อหาที่สเข้าใจง่าย

เรื่องล่าสุด

©2023 – All Right Reserved. Designed by  skbfinancialservices